วัด / โบราณสถาน

วัดพระธาตุหริภุญไชยวรมหาวิหาร

วัดพระธาตุหริภุญไชยวรมหาวิหาร เป็นโบราณ สถานคู่บ้านคู่เมืองลำพูน ก่อสร้างในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช ราวพุทธศักราช 1440 วัดพระธาตุหริภุญไชย ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดลำพูนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 100 เมตร มีองค์พระธาตุที่บรรจุอัฐิของพระพุทธเจ้า ฐานเจดีย์เป็นรูปเหลี่ยมด้านละ 16 วา

วัดจามเทวี

วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยล้านนาไทย ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดกู่กุด บางแห่งก็ว่าพระนางจามเทวีทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1292 โดยใช้ช่างฝีมือชาวขอม บ้างก็ว่าเจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศ ราชโอรสของพระนางจามเทวี ได้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของพระนางลักษณะองค์พระเจดีย์ที่ประดิษฐานในวัด เป็นสี่เหลี่ยมแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่เป็นชั้นๆ

วัดพระยืน

ตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน ห่างจากตัวเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1713 มีสิ่งที่น่าสนใจคือ พระพุทธรูปเก่าแก่และหลักศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช    ซึ่งจารึกเรื่องพระสุมนเถรภิกษุจากรุงสุโขทัย ร่วมกับพระเจ้ากือนา สร้างวัดนี้มาโดยตลอดที่เจดีย์ มีพระพุทธรูปยืนในซุ้มทั้งสี่ด้าน โดยเป็นของโบราณตั้งเดิมหนึ่งองค์และพระเจ้ากือนาสร้างใหม่อีก 3 องค์ เพื่อให้ครบ  4 ด้าน พระเจดีย์วัดพระยืน มีทรงมณฑปคล้ายคลึงกับอานันทเจดีย์ที่เมืองพุกาม ประเทศพม่า และวัดป่าสัก จังหวัดเชียงราย

วัดมหาวัน (วัดมหาวันวนาราม)

อยู่ห่างจากกลางเมืองลำพูนราว 2 กม. เลียบไปตามคูเมืองเก่าด้านตะวันตก มีตำนานการสร้างวัดว่าวัดนี้สร้างมาตั้งแต่ครั้งพระนางจามเทวีขึ้นมาครองเมืองหริภุญไชย สิ่งที่น่าชมคือ พระพุทธรูปนาคปรกที่เชื่อกันว่าคือ พระพุทธสิกขิ หรือพระศิลาดำซึ่งพระนางจาเทวีอัญเชิญทาจากกรุงละโว้ ปัจจุบันชาวเมืองเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระรอดหลวง” หรือ “พระรอดลำพูน” ซึ่งมีความสำคัญและเป็นแบบพิมพ์ในการจำลองทำพระเครื่องที่ลือชื่อกรุหนึ่งคือ พระรอดมหาวัน

วัดพระคงฤาษี (วัดอนันทราม)

ตั้งอยู่ตำบลในเมือง เป็นวัดสร้างขึ้นในสมัยพระนางจามเทวีครองเมืองหริภุญไชย ในวัดนี้มีพระคงซึ่งเป็นพระเครื่องที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่นับถืออีกองค์หนึ่งของเมืองลำพูน

อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี

ตั้งอยู่ตำบลในเมือง ห่างจากศาลากลางจังหวัดลำพูนไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กม. พระนางจามเทวีเป็นองค์กษัตริย์แห่งปฐมนครหริภุญไชย(ลำพูน) พระเป็นปราชญ์ที่มีความงดงามทางคุณธรรมและยังมีพระสิริโฉมงดงาม พระนางได้นำพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรมมาเผยแพร่ในดินแดนลานนาไทยเป็นเบื้องแรก ซึ่งทำให้ล้านนาไทยเจริญรุ่งเรือง ทั้งด้านการศาสนา และศิลปวัฒนธรรมมาจนถึงปัจจุบัน  อนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างเสร็จและเปิดเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2525 โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามกุฏราชกุมารฯ เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธี

กู่ช้าง – กู่ม้า

ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองลำพูน บริเวณชุมชนวัดไก่แก้ว ห่างจากตัวเมืองประมาณ 1 กม. เป็นสุสานช้างศึกม้าศึก คู่บารมีของพระนางจามเทวี ช้างศึกชื่อ “ภู่ก่ำ งาเขียว” ซึ่งหมายถึงช้างผิวสีคล้ำงาสีเขียวที่ทรงอานุภาพอิทธิฤทธิ์ในสงครามชาวเมืองถือว่า กู่ช้าง-กู่ม้า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง

น้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์ดอยขะม้อ

เป็นชื่อเขาเล็กๆ ลูกหนึ่ง สูงประมาณ 5 เส้น ตอนบนพื้นที่ราบ กว้างประมาณ 1 ไร่ อยู่ในเขตตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมืองเมืองลำพูน ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ 20 กม. มีบ่อน้ำเกิดขึ้นเองบนภูเขาลึกจนประมาณมิได้ และมีน้ำเค็มเต็มบ่อทุกฤดูบ่อน้ำนี้ประชาชนถือกันมาแต่โบราณว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ห้ามผู้หญิงตักเวลาถึงเทศกาลสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย จะต้องตักน้ำจากบ่อนี้ไปสรงน้ำพระธาตุก่อนและเวลาพระมหากษัตริย์ไทยเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ จะนำเอาน้ำในบ่อนี้ส่งไปร่วมเป็นน้ำพุทธาภิเษกทุกครั้ง

วัดพระพุทธบาทตากผ้า

อยู่ห่างจากป่าซาง ตามถนนสายป่าซาง – ลี้ ราว 6 – 7 กม. แล้วมีทางแยกเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 1 กม. วัดนี้เป็นปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองลำพูน ตามตำนานการสร้างวัดเล่าว่า พระพุทธองค์เคยเสด็จมาประทับที่นี่ แล้วทรงนำจีวรออกตากกับหน้าผาหินแถวนั้น ซึ่งปัจจุบันก็ยังปรากฏเป็นรอยตารางคล้ายจีวรของพระอยู่จนทุกวันนี้

วัดพระบาทห้วยต้ม

เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอลี้ และยังเป็นวัดประจำหมู่บ้านชาวเขาพระบาทห้วยต้ม ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลนาทราย ห่างจากตัวอำเภอไปทางทิศใต้ประมาณ 10 กม. แยกจากทางหลวงหมายเลข 106 บริเวณ กม.ที่ 46-47 เข้าไปประมาณ 5 กม. บริเวณทางเข้ามีอนุสาวรีย์พระครูบาชัยวงศา วัดพระบาทห้วยต้มมีอาณาบริเวณกว้างขวางมีสิ่งก่อสร้างทำจากศิลาแลงที่ขุดได้จากบ่อศิลาแลงด้านหลังของวัดและ มีองค์พระธาตุที่ได้รับการตกแต่งอย่างงดงามบูรณะก่อสร้างจากศรัทธาของบรรดาชาวกะเหรี่ยงที่มีต่อครูบาชัยวงศา พระอาจารย์ชื่อดังทางภาคเหนือ ชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้นอกจากจะทำไร่ทำสวนแล้ว ยังมีอาชีพเป็นช่างฝีมือ ทอผ้า ทำสร้อยคอ และเครื่องเงินเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน

เจดีย์ศรีเวียงชัย

พระบรมธาตุเจดีย์ชเวดากอง (จำลอง) ได้เริ่มลงมือก่อสร้างขุดรากฐานปฐมฤกษ์จำลองแบบมาจาก พระมหาเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า โดยมีพระเจดีย์องค์ใหญ่เป็นองค์ประธานอยู่ตรงกลาง มีความสูงจากฐานถึงปลายบัวยอดฉัตร 64.39 เมตร และมีเจดีย์องค์เล็กเป็นบริวารอยู่โดยรอบจำนวน 48 องค์