เล่าเรื่องเมืองเก่า

เล่าเรื่องเมืองเก่าลำพูน

เมืองเก่า หมายถึง เมืองหรือบริเวณของเมืองที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะแห่งสืบต่อมาแต่กาลก่อน และมีเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือมีรูปแบบผสมผสานของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น การรักษาคุณค่าและความหลากหลายทางวัฒนธรรมของเมือง สามารถเสริมสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของจังหวัดและประเทศได้เป็นอย่างดี ในประเทศไทยปรากฏเมืองเก่ามากมายกระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ เมืองเก่าจำนวนมากเป็นพื้นที่ที่มีประชากรใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งชุมชนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เมืองเก่าเหล่านี้มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมตามช่วงเวลาต่างๆ อย่างมากมาย

การอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าในประเทศไทย เริ่มต้นในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งสามารถดำเนินการสัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรม และได้ขยายการดำเนินงานไปยังพื้นที่เมืองเก่าอื่นๆ คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้กำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า 10 เมือง เป็นเมืองเก่ากลุ่มที่ 1 ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง กำแพงเพชร พิษณุโลก ลพบุรี พิมาย นครศรีธรรมราช และสงขลา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553, เมืองลำพูน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2554 และ เมืองน่าน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 เหตุผลคือ เป็นเมืองเก่าที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีขนาดใหญ่ ในฐานะศูนย์กลางของอาณาจักรในยุคใดยุคหนึ่ง มีหลักฐานของงานศิลปกรรมที่มีลักษณะที่บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของอาณาจักรนั้นๆ ในอดีต และในปัจจุบันมีการอยู่อาศัยของชุมชนใหม่ซ้อนทับชุมชนเดิม ทำให้ต้องเร่งประกาศความสำคัญของการเป็นเมืองเก่าให้ชัดเจนเพื่อการดำเนินการทางด้านการพัฒนาและอนุรักษ์ที่เหมาะสมต่อไป

จากการที่ลำพูน เป็น 1 ใน 10 เมืองเก่า การพัฒนาที่สำคัญตามแผนและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าลำพูน เน้นการพัฒนาเมืองใน 3 ด้านได้แก่ ด้านการพัฒนากลไกและกระบวนการบริหารจัดการเมืองเก่าแบบบูรณาการ ด้านการฟื้นฟู ดูแล รักษาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิทัศน์เมืองเก่า และด้านส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ และเสริมสร้างความเข้าใจ ถึงประโยชน์ของเมืองเก่า และรักษาเมืองเก่าให้เป็นแหล่งเรียนรู้อย่างยั่งยืน

เพื่อให้การพัฒนาเมืองเก่าปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ตามแผนที่ได้วางไว้ คณะผู้บริหารของเทศบาลเมืองลำพูนจึงได้มุ่งเน้นปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ จัดระเบียบในเขตเมืองเก่า บริเวณย่านสำคัญทางประวัติศาสตร์อันเป็นการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้เชื่อมโยงในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมือง และเป็นการเปิดมุมมองใหม่ของเมือง ให้เป็นที่ดึงดูดความสนใจแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวชมในจังหวัดมากขึ้น รวมทั้งเป็นการปลุกจิตสำนึกรักท้องถิ่น และสร้างความภาคภูมิใจให้ประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล