ประเพณีแห่ไม้ค้ำสะหลี ของเทศบาลเมืองลำพูนร่วมกับวัดพระธาตุหริภุญชัย เพื่ออนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ช่วงเทศกาลสงกรานต์

เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2562 เทศบาลเมืองลำพูน นำโดยประภัสร์  ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน จัดประเพณีแห่ไม้ค้ำสะหลี ซึ่งเป็นหนึ่งในประเพณีสำคัญในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่เมือง โดยเริ่มเคลื่อนขบวนจากประตูช้างสี มายังวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการค้ำชูศาสนา อีกทั้งเชื่อกันว่ากุศลในการถวายไม้ค้ำสะหลี จะช่วยคุ้มครองดวงชะตาให้เจริญรุ่งเรือง มีคนช่วยเหลือค้ำชูไปตลอด ซึ่งเทศบาลเมืองลำพูน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ในเรื่องของประเพณีสงกรานต์ล้านนา และส่งเสริมการท่องเที่ยวจึงได้ จัดกิจกรรมแห่ไม้ค้ำสะหลีครั้งนี้ขึ้นมา

การแห่ไม้ค้ำสะหลี หรือการแห่ไม้ค้ำต้นโพธิ์ โดยคำว่า ‘สะหลี’ เป็นภาษาล้านนา มาจากคำว่า ‘ศรี’ อันหมายถึงพระศรีมหาโพธิ์ การแห่ไม้ค้ำศรี หรือการแห่ไม้ค้ำต้นโพธิ์ อันหมายถึงพระศรีมหาโพธิ์ เป็นพิธีกรรมที่สืบทอดกันมาจากการที่กลุ่มคนนำไม้ค้ำไปค้ำที่ต้นโพธิ์  ซึ่งไม้ค้ำที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษนี้ จะถวายทานในเทศกาลสงกรานต์ การที่ได้นำเอาไม้ค้ำไปค้ำที่ต้นโพธิ์ เหมือนการค้ำชูพระพุทธศาสนา ชาวล้านนาเชื่อว่า เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์แล้ว ทุกคนควรจะทำพิธีสืบชะตาของตน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง  บางพื้นที่จะตัดไม้ง่าม ขนาดตามความพอใจ ทาด้วยขมิ้นสีเหลือง หรือประดับตกแต่งด้วยกระดาษสีสันสวยงาม นำไปเข้าพิธีสืบชะตา เสร็จแล้วจะนำไปตั้งค้ำต้นโพธิ์ต้นใหญ่ที่มีอยู่ตามวัดต่างๆ พิธีการดังกล่าว จึงถูกยึดถือปฏิบัติจนกลายมาเป็นประเพณีแห่งไม้ค้ำ โพธิ์อย่างทุกวันนี้