เทศบาลเมืองลำพูน ร่วมประชุมขับเคลื่อนการสร้างเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและการใช้งบประมาณที่คำนึงถึงมิติทางเพศ (SDGs & GRB)

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 นายประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน ร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาการสร้างเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและการใช้งบประมาณที่คำนึงถึงมิติทางเพศ (SDGs & GRB) โดยการประชุมทางไกลออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สำนักกรรมาธิการ 2 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อประชุมพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้งนี้การจัดทำงบประมาณที่มีมิติเพศภาวะ (Gender Responsive Budgeting – GRB) คือ การ จัดทำงบประมาณที่มีการวิเคราะห์ถึงความจำเป็น การเข้าถึง ผลประโยชน์และผลกระทบที่แตกต่างของหญิง ชาย และประชากรกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้เกิดการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรมและเหมาะสมแก่ประชากรกลุ่มต่างๆ ซึ่งเป้าหมายคือการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ

ซึ่งการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศเป็นทิศทางการพัฒนาที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางในระดับสากลทั้งองค์กรระหว่างประเทศและจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญของหลักการด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีหลักการที่ยึดถือและปฏิบัติร่วมกันว่ามนุษย์ทุกคนควรได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่อาจแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติได้เพราะความแตกต่าง ทางเพศ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The UN Declaration of Human Rights) และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of all Forms of Discrimination against Women หรือ CEDAW) รวมทั้งสอดรับคล้องกับพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายทางเลือกในการคุ้มครองและป้องกันสิทธิให้ผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ยังเป็นเงื่อนไขการพัฒนาที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพิ่มคุณภาพชีวิต นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 5 เกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศอย่างชัดเจน