เทศบาลเมืองลำพูนร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท(FES) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมสัมมนา ในหัวข้อ “สังคมและความยั่งยืนของลำพูน : การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงหลังโควิด 19 ”

 

วันที่ 27 – 28 ตุลาคม 2565 เทศบาลเมืองลำพูน ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมสัมมนาในหัวข้อ“สังคมและความยั่งยืนของลำพูน : การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงหลังโควิด 19 ” โดยมีนายประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน ร่วมกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนา คุณเวสน่า โรดิช ผู้อำนวยการมูลนิธิ Friedrich Ebert Stiftung (FES) ประเทศไทยให้เกียรติกล่าวเปิดการสัมมนาฯ ณ ห้องประชุม Grand Pa โรงแรมแกรนด์ ปา ลำพูนเชียงใหม่

โดยมีกลุ่มเป้าหมายของการสัมมนา ในวันที่ 27 ตุลาคม 2565 คือ คณะผู้บริหาร พนักงานเทศบาล ประธานชุมชน 17 ชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และในวันที่ 28 ตุลาคม 2565 กลุ่มเป้าหมายคือ พนักงานครูในสังกัดเทศบาลเมืองลำพูน พนักงานเทศบาล ประชาชน ผู้ประกอบการร้านค้า ผู้ประกอบการธุรกิจ Start -up รวมถึงคนรุ่นใหม่ไฟแรงในพื้นที่ ซึ่งการจัดสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองลำพูนในอนาคตผ่านมุมมองความคิดเห็นของคนในพื้นที่
โดย คุณภาคภูมิ วาณิชกะ ผู้จัดการโครงการ ได้กล่าวนำถึงความเป็นมาและจุดเริ่มต้นของความร่วมมือผ่านโครงการเมืองยั่งยืนที่ผ่านมา
คุณชัยวุฒิ ตันไชย ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการพัฒนาเมือง ร่วมพูดคุยในหัวข้อ “ลำพูนหลังโควิด 19 และความท้าทายใหม่
คุณวรัญญู เสนาสุ จากวิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ร่วมพูดคุยในหัวข้อ “อนาคตเมืองลำพูน”
คุณอนรรฆ พิทักษ์ธานิน จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมพูดคุยในหัวข้อ “อนาคตเมือง อนาคตของผู้คน”

ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในครั้งนี้ คือความท้าทายใหม่ และสัญญาประชาคมใหม่ของคนลำพูน สำหรับความท้ายทายที่กล่าวถึง คือปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อการอพยพย้ายถิ่นฐานจากเมืองใหญ่สู่ชนบทหรือบ้านเกิด การประกอบอาชีพ หรือการลงทุนภาคธุรกิจในระบบเศรษฐกิจจะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้นในจังหวัดลำพูน อาทิ ธุรกิจใหม่ๆ ร้านค้า ย่านคาเฟ่ บนถนนอินทยงยศและถนนเจริญราษฏร์ คำถามสำคัญคงไม่พ้นที่ว่า ในฐานะคนลำพูน….เราอยากเห็นลำพูนเป็นอย่างไรในอนาคต? หรือ…ลำพูนจะพัฒนาไปในทิศทางใด? ภายใต้การเป็นเมืองประชาสังคม ที่คนสองรุ่น ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ต้องอยู่ร่วมกันได้บนความเห็นต่างทางความคิด และการมองภาพอนาคตเมืองลำพูนที่แตกต่างกัน

การขับเคลื่อนพัฒนาเมืองลำพูน จึงต้องเป็นความคิดเห็นของส่วนใหญ่ที่จะร่วมคิด ร่วมวางแผน สร้างลำพูนให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนทุกวัย มีความร่วมสมัย แต่ไม่ทิ้งวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิม การชูความเป็น “เมืองเก่า” รวมถึงการออกแบบ “ย่าน” สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และจัดการสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่น่าอาศัย มีพื้นที่สีเขียวที่เป็นแหล่งโอโซนของเมือง เหล่านี้จะช่วยตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนได้ เพื่อลำพูน….จะไม่ลำพัง…และเป็นจุดหมายปลายทางแห่งการท่องเที่ยววิถีใหม่ อย่างยั่งยืนต่อไป