เทศบาลเมืองลำพูนจัดสาธิตการทำหมากสุ่ม หมากเบ็ง ต้นผึ้ง ต้นดอก และสาธิตการทำอาหารพื้นเมือง 17 ชุมชน ในงานประเพณีสงกรานต์จังหวัดลำพูน ประจำปี 2566

วันที่ 13 เมษายน 2566 นายประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และสมาชิกสภาเทศบาล ร่วมชมกิจกรรมการประดิษฐ์หมากสุ่ม หมากเบ็ง ต้นผึ้ง ต้นดอก ของประชาชนทั่วไป และการสาธิตประกอบอาหารพื้นเมืองของชุมชน 17 ชุมชน ในงานประเพณีสงกรานต์จังหวัดลำพูน ประจำปี 2566 โดยมี นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน และหัวหน้าส่วนราชการ เยี่ยมชมกิจกรรมภายในงาน พร้อมทั้งชิมอาหารพื้นเมืองของชุมชน อาทิ ลาบหมู, แกงอ่อม, น้ำพริกอ่อง, แกงฮังเล ฯลฯ จัดขึ้น  ณ บริเวณศาลากลาง(เก่า)จังหวัดลำพูน

ทั้งนี้ หมากสุ่ม, หมากเบ็ง, ต้นผึ้ง,ต้นดอก เป็นเครื่องสักการบูชาของชาวล้านนา เพื่อการบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรืออาจใช้คารวะบุคคลผู้มียศศักดิ์ ครู อาจารย์ และผู้ที่นับถือ โดยเฉพาะในพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ “สุ่มดอก ต้นดอก หรือหลักบายศรี” เป็นเครื่องสักการบูชาที่ใช้ใบไม้ ดอกไม้ ตกแต่งคล้ายกับบายศรี ทำรูปลักษณะเหมือนกรวย หรือเป็นพุ่ม

“หมากสุ่ม” คือ การนำผลหมากที่ผ่าซีกแล้วเสียบร้อยด้วยปอ หรือด้ายผูกไว้เป็นพวงตากแห้งเก็บไว้กิน ซึ่งคนทางเหนือเรียก “หมากไหม” มาปักคลุมโครงไม้หรือโครงเหล็กที่ทำเป็นต้นพุ่มไว้, หมากเบ็ง มีลักษณะเดียวกับหมากสุ่ม แต่ใช้ผลหมากดิบหรือหมากสุกทั้งลูกแทน มีจำนวน 24 ลูก ผูกติดตรึงโยงไว้กับโครงไม้หรือโครงเหล็กที่ทำเป็นพุ่ม ลักษณะการผูกโยงตรึงกันนี้ คนเหนือเรียกว่า “เบ็ง”

“ต้นผึ้ง” จะทำถวายเพื่อให้พระสงฆ์นำไปทำเป็นเทียน โดยนำขี้ผึ้งมาปั้นเป็นลูกๆ หรือสลักเป็นดอก หรือเข้าแบบ โดยใช้ก้นมะละกอดิบที่ปอกเปลือกแล้วจุ่มลงในขี้ผึ้งที่นำมาละลาย ก่อนยกจุ่มในน้ำเย็น จะได้ดอกผึ้งหลุดล่อนออกมา แล้วนำไปประดับยังหยวกกล้วยที่ตัดเป็นเสมือนต้นไม้ให้กลายเป็นต้นผึ้งสวยงาม

*********************************************************************************************************************